[รีวิว][HowTo] ถอน RMF ก่อนถึงเวลาขาย ต้องทำอย่างไรบ้าง และต้องเสียค่าปรับที่ไหน อย่างไร

มนุษย์เงินเดือนอย่างเรานั้น ก็อาจจะต้องเสียเป็นเรื่องธรรมดา (เพราะรายได้ที่มากขึ้น) สิ่งที่ช่วยได้ก็คือการซื้อกองทุนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น LTF (ไม่มีแล้ว) SSF หรือ RMF เพื่อมาลดหย่อนภาษี ทีนี้ถ้าบังเอิญว่าถ้าเรามีความจำเป็นต้องใช้เงินในกองทุนเหล่านั้น ต้องทำอย่างไร เพราะว่า RMF นั้นกว่าจะถอนได้ก็คือต้องมีอายุที่ 55 ปีนั่นเอง เรามาดูกัน

ตัดสินใจขาย

ก่อนที่เราคิดจะขายกองทุน RMF นั้นเราต้องแน่ใจว่า เราคิดมาอย่างถี่ถ้วนแล้ว เพราะในการถอนมันออกมานั้น จำเป็นต้องเสียค่าปรับ เพราะมันจะถูกเรียกว่า เป็นการขายแบบผิดเงื่อนไข แล้วต้องไปเสียค่าปรับที่สรรพากรแถมถ้ากองทุนนั้นมีกำไรก็ต้องหักภาษีกับทางธนาคารด้วยนั่นเอง

เริ่ม

หลายคนอาจมีแอปฯ ธนาคารต่าง ๆ ที่รวมไปถึง Function ของการซื้อกองทุนไว้ด้วย โดยที่จะยกตัวอย่างก็จะเป็น @ccess Mobile ของธนาคารกรุงศรี ซึ่งสามารถซื้อขายกองทุน RMF แบบผิดเงื่อนไขผ่านแอปฯ ได้เลย | iOS, Android แต่ของธนาคารอื่นอย่าง TTB หรือ Kasikorn ไม่สามารถทำได้

ไปธนาคารหรือผู้จัดการกองทุน

ไปที่ธนาคารเลยหรือผู้จัดการกองทุนทั้งหลายเช่น MFC ยิ่งดีก็คือไปก่อน 15:30 น. เพื่อที่จะสามารถทำการขายภายในวันได้เลย ไปหลังจากนั้นจะเป็นการขายในวันถัดไป

สามารถแจ้งพนักงานได้เลยว่าจะขายกองทุน RMF ครับ ทางพนักงานก็จะแจ้งว่าการขาย RMF แบบผิดเงื่อนไขจะโดนเรื่องภาษี การปรับภาษีเพราะเราเอาไปใช้ในลดหย่อนภาษีแล้ว (แต่ถ้าเราซื้อแล้วไม่ได้เอาไปยื่นไม่โดนอะไรเลยนะ แต่จะซื้อไปทำไม) และสุดท้ายทางพนักงานก็จะบอกว่าไปเสียค่าปรับที่สรรพากรด้วย เรื่องของการขายกองทุน RMF ก็มีแค่นี้ แล้วก็รอเอกสารไปยื่นเป็นรายได้ในปีที่เราทำการขาย และไปยื่นเป็น 40(8) ด้วยนะ

ระยะเวลารอเงินล่ะ

รอรับเงินเข้ากระเป๋า T+4 เช่นขายวันพฤหัส เงินจะเข้าวันอังคาร เว้นเสาร์-อาทิตย์

ไปสรรพากรต่อ

ใครใกล้เขตไหน ไปเขตนั้น ไปให้ถูกพื้นที่สาขาด้วยนะ ไม่งั้นเสียเวลา เมื่อไปถึงสามารถบอกเค้าได้เลยว่าทำการขาย RMF แบบผิดเงื่อนไขนะครับ ทางพี่ ๆ เจ้าหน้าที่จะบอกว่าเราต้องไปแผนกภาษี (ก็แล้วแต่เลยว่าอยู่ตรงไหน) เพื่อจะได้ไปคุยและให้ทางนั้นตรวจสอบอีกที เพื่อไปตรวจสอบแบบ ถ้าเราไม่มีตัวแบบที่ยื่นภาษี 5 ปี (หรือ 5 ครั้งที่เรายื่นลดหย่อนด้วย RMF) เราต้องทำการไปขอคัดแบบ …

ซึ่งมันคือ?

คัดแบบ?

คำที่จะได้ยินบ่อยมากในสรรพากร มันก็คือคัดแบบ มันก็คือพวก ภงด. 90/91 ที่มนุษย์เงินเดือนยื่นกันนั่นแหละ โดยทางสรรพากรแผนกภาษีจะขอตัวนั้นกับเรา เพื่อทำการตรวจการยื่นภาษีโดยการใช้ RMF ว่าเราใช้ไปกี่ปี 5 ครั้งในปีปฏิทินหรือไม่ อะไรก็ว่าไป

ถ้าเราไม่มี ทางพี่พนักงานจะให้เราทำการไปยื่นคำร้องขอทำการขอคัดแบบ ในปีที่ทางพี่ ๆ สรรพกรต้องการนั่นแหละ กี่ฉบับ ปีไหนบ้างก็ว่าไป (มีค่าใช้จ่ายชุดละ 18 บาท แล้วแต่ที่ไม่เหมือนกัน) บางที่สามารถได้ภายในวันนั้นเลย บางที่ขอเป็นอาทิตย์ (นี่โดนทั้ง ได้เลย และรอเป็นอาทิตย์)

ข้อสำคัญ *

ต้องดูด้วยนะว่าเรายื่นแบบในแต่ละปี เรายื่นที่เดียวกันไหมเช่นปี 2562 อยู่เขตพญาไท ก็ต้องไปขอคัดแบบที่เขตพญาไท ที่เราเคยอยู่ และไม่สามารถขอข้ามเขตได้น้า ถึงแม้ว่าปี 2563 เราย้ายมาเขตจตุจักร เราก็ต้องมาขอที่เขตจตุจักรเป็นต้น

สุดท้ายไปเสียค่าปรับ

สุดท้ายแล้วนั้นทางเจ้าหน้าที่ พี่ ๆ สรรพกรเนี่ยก็จะบอกว่าให้ไปเสียค่าปรับตรงแผนกยื่นภาษีอะไรแถวนั้น แล้วแต่ว่าแต่ละเขตจะอยู่ที่ไหน แต่อยู่ในตึกเดียวกัน โดยทางพี่ ๆ สรรพกรจะนำแบบที่เราไปคัดมานั่งคำนวนภาษีว่า ถ้าเค้าเอาจำนวนเงินที่เรายื่น RMF ไปเนี่ยออกจากสมการ (ขั้นต่ำก็ 5000 บาท) ไปแล้วเราต้องเสียภาษีเพิ่มไหม ซึ่งถ้าปีนั้น ๆ เราเสียภาษีไว้เยอะ โดนแน่นอน (มากน้อยแล้วแต่) แต่ถ้าปีถัดมานั้น เรารายได้ไม่ถึงที่จะต้องภาษีอยู่แล้ว การเอา RMF ออกไปก็ทำให้เราไม่ต้องเสียอะไรเพิ่ม

เมื่อทางพี่ ๆ เจ้าหน้าที่คิดคำนวนภาษีที่ต้องชำระเพิ่มแล้วนั้น ก็กดคิวเพื่อยื่นภาษีอีกครั้งและชำระค่าปรับเพิ่ม แล้วเราก็จะได้ใบเสร็จมา ถือเป็นอันจบ

คำถาม

Q: ถ้าเราถอน RMF กอง A แต่เรามีอีกหลายกองเช่นกอง B, C ละทำไงบ้าง

A: เราจำเป็นต้องไปเสียค่าปรับในแต่ละปีก่อนแล้วเราสามารถถอนทุกกองออมาได้หมดเลย โดยไม่ต้องเสียค่าปรับอะไรเพิ่ม และเริ่มนับ 1 ใหม่ในการซื้อ RMF (ซึ่งยังไงก็ต้องมาขายเร็วสุดในอายุ 55 ปีอยู่แล้ว)

Q: ถ้าได้กำไรจากกองทุน RMF ล่ะ?

A: เอาไปยื่นเป็นรายได้ด้วยตอนปลายปี

Q: ถ้ากองทุน RMF ขาดทุนล่ะ?

A: ไม่ต้องเสียภาษีจ้า แต่ก็ต้องนำไปคิดเป็นรายได้อยู่ดี

Q: ถ้าเราไม่รู้เรื่องการเสียภาษีเลย พี่ ๆ เจ้าหน้าที่จะคอยช่วยเหลือเราไหม?

A: พี่ ๆ เจ้าหน้าที่สรรพากรคือใจดีมาก นอบน้อมเข้าไว้ แล้วทุกอย่างจะเรียบง่ายจริง