สายการบินไทยเวียตเจ็ทสยายปีกมุ่งหน้าสู่ครึ่งหลังของปี 2566 อย่างมั่นคง เผยผลการดำเนินงานในครึ่งปีแรกของปี 2566 เดินหน้าเสริมสร้างเสถียรภาพในการปฏิบัติการ มุ่งปรับปรุงอัตราตรงต่อเวลา (OTP) ยกระดับคุณภาพบริการ และขยายเครือข่ายเส้นทางบิน มอบตัวเลือกการเดินทางที่หลากหลายและเปี่ยมคุณภาพแก่ผู้โดยสาร พร้อมเผยอัตราการเติบโตของรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 103.63 และจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
เสริมสร้างเสถียรภาพด้านปฏิบัติการ เดินหน้าสยายปีกอย่างมั่นคง:
ตลอดครึ่งแรกของปี 2566 กล่าวได้ว่าสายการบินไทยเวียตเจ็ทประสบความสำเร็จในการเสริมสร้างเสถียรภาพด้านปฏิบัติการบินและการดำเนินงาน
เมื่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการทั่วโลกเริ่มฟื้นฟูกลับสู่ระดับเดียวกันกับช่วงก่อนการระบาดของโรคไวรัส และกลับสู่สภาพตลาดปกติ สายการบินและสนามบินหลายแห่งประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานเนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางที่ยาวนานและเข้มงวดในช่วงยุคโรคระบาด ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานลดลงและสร้างประสบการณ์การเดินทางด้านลบแก่ผู้โดยสาร เพื่อแก้ปัญหานี้และเพื่อเสริมความเสถียรในการดำเนินงาน ไทยเวียตเจ็ทได้พยายามอย่างมากในการปรับปรุงการให้บริการเพื่อเพิ่มความพึงพอใจสูงสุดแก่ลูกค้า รวมถึงการบริหารจัดการการให้บริการภาคพื้นดินด้วยตนเอง
ผลจากความสามารถในการเสริมสร้างความมั่นคงในการดำเนินงาน ไทยเวียตเจ็ทประสบความสำเร็จในการรักษาอัตราการตรงต่อเวลา (OTP) ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญที่สุดสำหรับการปฏิบัติการบินที่ประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมการบิน ในไตรมาสที่ 2/2566 อัตราการตรงต่อเวลาของไทยเวียตเจ็ทอยู่ที่ร้อยละ 82 ในขณะที่ อัตราการตรงต่อเวลาเฉลี่ยของไตรมาสที่ 4/2565 และไตรมาสที่ 1/2566 อยู่ที่ร้อยละ 59 และร้อยละ 68 ตามลำดับ ในแง่ของอัตราความน่าเชื่อถือทางเทคนิค ไทยเวียตเจ็ทยังคงรักษาอยู่ที่ร้อยละ 99.68 ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่เป็นบวกอย่างมากในอุตสาหกรรมการบิน
ด้วยความสำเร็จในการเสริมสร้างเสถียรภาพในการปฏิบัติการและการดำเนินงาน รวมทั้งความมั่นคงด้านการดำเนินธุรกิจ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ไทยเวียตเจ็ทเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในแง่ของจำนวนผู้โดยสาร โดยมีจำนวนผู้โดยสารรวม 3.04 ล้านคน คิดเป็นอัตราการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารอยู่ที่ร้อยละ 10.12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเครือข่ายเส้นทางบินระหว่างประเทศ มีอัตราการเติบโตของผู้โดยสารที่ร้อยละ 884 โดยมีผู้โดยสารบนเส้นทางระหว่างประเทศมากกว่า 729,000 คนในช่วงครึ่งแรกของปี ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 ไทยเวียตเจ็ทมีจำนวนผู้โดยสารสะสมถึง 21.54 ล้านคน นับตั้งแต่การให้บริการเที่ยวบินแรกในปี 2559
ไทยเวียตเจ็ทยังได้ขยายขีดความสามารถในการดำเนินงานอย่างมากในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ด้วยจำนวนเครื่องบินทั้งหมด 18 ลำในฝูงบิน A320 และ A321 ในครึ่งแรกของปี 2566 สายการบินฯ ให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศเฉลี่ย 547 เที่ยวบิน และเที่ยวบินระหว่างประเทศเฉลี่ย 190 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ โดยมีอัตราบรรทุกของเที่ยวบินภายในประเทศและระหว่างประเทศอยู่ที่ร้อยละ 85 และร้อยละ 77 ตามลำดับ ทำให้สายการบินยังคงสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดภายในประเทศเป็นอันดับสองไว้ได้
นอกจากนี้ ไทยเวียตเจ็ทยังได้ร่วมมือกับเวียตเจ็ท กรุ๊ป ในฐานะผู้ให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศไทยและเวียดนามอันดับต้น ๆ โดยนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 เป็นต้นมา ไทยเวียตเจ็ทและเวียตเจ็ทกรุ๊ปให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศไทยและเวียดนามมากกว่า 4,200 เที่ยวบิน ให้บริการผู้โดยสารกว่า 683,000 คนในเครือข่ายเที่ยวบินที่กว้างขวางระหว่างทั้งสองประเทศ ได้แก่ เที่ยวบินระหว่างกรุงเทพฯ สู่ โฮจิมินห์ซิตี้ ดานัง ฟู้โกว๊ก และฮานอย เที่ยวบินระหว่าง ภูเก็ต สู่ ฮานอย และ โฮจิมินห์ซิตี้ และเที่ยวบินจากเชียงใหม่ สู่ โฮจิมินห์ซิตี้ โดยจำนวนเที่ยวบินเพิ่มขึ้นร้อยละ 446.36 ขณะที่จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นร้อยละ 1,332.37 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
ในแง่ของรายได้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ไทยเวียตเจ็ทมีรายได้รวมเพิ่มขึ้น 103.63 เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 2565 โดยรายได้รวมแบ่งเป็นรายได้จากการจำหน่ายตั๋วโดยสารร้อยละ 73.20 และรายได้จากบริการเสริมและบริการบนเครื่องบินมีร้อยละ 26.72
มุ่งปรับปรุงบริการ ยกระดับประสบการณ์ตลอดการเดินทาง:
ด้วยการมุ่งเน้นที่กลยุทธ์ที่ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ไทยเวียตเจ็ทให้ความสำคัญกับการยกระดับประสบการณ์ของลูกค้าและยกระดับคุณภาพการบริการอย่างต่อเนื่องในทุกด้าน
ไทยเวียตเจ็ทได้เปิดใช้งานช่องทางการติดต่อที่หลากหลายเพื่อให้ลูกค้าสามารถรับบริการจากสายการบินฯ ได้โดยตรง รวมถึง ‘Amy Chatbot’ – แชทบ็อตปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่สามารถจำลองการสนทนาทันทีกับผู้โดยสารทางออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง ผู้โดยสารสามารถสนทนากับ Amy Chatbot เพื่อจัดการการจองหรือสอบถามข้อมูลการเดินทางที่จำเป็นได้อย่างสะดวก ด้วย Amy Chatbot ไทยเวียตเจ็ทประสบความสำเร็จในยกระดับอัตราความพึงพอใจของลูกค้า โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 อัตราความพึงพอใจของลูกค้าอยู่ที่ร้อยละ 90.0 เทียบกับร้อยละ 83.0 ในช่วงเดียวกันของปี 2565 ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.43 ในขณะที่อัตราการใช้บริการของ Amy Chatbot ที่ประสบความสำเร็จในครึ่งแรกของปี 2566 และครึ่งแรกของปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 87.6 และร้อยละ 78.6 ตามลำดับ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.54 ภายในสิ้นปี 2566 สายการบินมีเป้าหมายที่จะยกระดับอัตราความพึงพอใจของลูกค้าและอัตราการใช้บริการที่ประสบความสำเร็จของ Amy Chatbot เป็นร้อยละ 95.0 และร้อยละ 90.0 ตามลำดับ
นอกจากนี้ ในด้านศูนย์บริการลูกค้า (Call Center) ไทยเวียตเจ็ทยังประสบความสำเร็จในการลดเวลารอสายโดยเฉลี่ยเหลือ 48 วินาที (ณ เดือนมิถุนายน 2566) เทียบกับ 160 วินาทีในเดือนมิถุนายน 2565 ในขณะที่อัตราการโทรสำเร็จเฉลี่ยของเดือนมิถุนายน 2566 อยู่ที่ร้อยละ 95.32 เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.01 ด้วยอัตราการโทรที่สำเร็จสูงนี้ สายการบินมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 58.70 จากการทำธุรกรรมผ่านศูนย์บริการลูกค้า
ในช่วงต้นปี 2566 สายการบินยังเปิดตัวบริการห้องรับรองพิเศษที่ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ด้วย ‘Coral Executive Lounge’ ซึ่งให้บริการโดย Coral Thailand มอบประสบการณ์การเดินทางเหนือระดับแก่ผู้โดยสาร ผู้โดยสารที่ถือบัตรโดยสารชั้นสกายบอส (SkyBoss) ของไทยเวียตเจ็ทจะได้รับสิทธิเข้าใช้บริการห้องรับรองพิเศษนี้โดยอัตโนมัติ ในขณะที่ผู้โดยสารที่ถือบัตรโดยสารชั้นประหยัด (Eco) และ ดีลักซ์ (Deluxe) สามารถเพลิดเพลินกับบริการห้องรับรองได้ในราคาที่คุ้มค่า โดยเพิ่มบริการรับรองพิเศษในหมายเลขการจองขณะทำการจองบัตรโดยสาร บริการห้องรับรองมีบทบาทอย่างมากในการปรับปรุงคุณภาพบริการโดยรวมและประสบการณ์ของลูกค้า ตอกย้ำไทยเวียตเจ็ท ในฐานะ ‘สายการบินที่ให้บริการด้วยความเป็นเลิศในราคาที่เข้าถึงได้’
เชื่อมต่อเครือข่ายและบริการ มอบตัวเลือกการเดินทางที่หลากหลาย:
ไทยเวียตเจ็ทกำลังก้าวไปข้างหน้าด้วยการกระจายการเชื่อมต่อเครือข่ายเส้นทางบินและบริการที่หลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า
หลังจากประสบความสำเร็จในการขยายเครือข่ายเส้นทางบินในปี 2565 ด้วยการเปิดให้บริการเส้นทางบินระหว่างประเทศใหม่รวม 5 เส้นทางบิน ได้แก่ เส้นทางบินจากจากกรุงเทพฯ ไปยังสิงคโปร์ ฟูกุโอกะ ไทเป พนมเปญ และฟู้โกว๊ก ตลอดจนการกลับมาให้บริการกรุงเทพฯ – ดานังอีกครั้ง สายการบินไทยเวียตเจ็ทตอกย้ำความสำเร็จในการขยายเครือข่ายเส้นทางบินอีกครั้ง ด้วยการให้บริการเที่ยวบินระหว่างเชียงใหม่และโอซาก้า จำนวน 4 เที่ยวต่อสัปดาห์ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นมา โดยเส้นทางใหม่นี้ยังคงเป็นบริการเที่ยวบินพาณิชย์แบบประจำมีกำหนดที่เชื่อมต่อเชียงใหม่และญี่ปุ่นเพียงเส้นทางเดียวในปัจจุบัน
เพื่อนำเสนอการเชื่อมต่อเที่ยวบินที่หลากหลายแก่ผู้โดยสาร ไทยเวียตเจ็ทเปิดตัวบริการเช็คทรู ‘ สกาย คอนเน็ค (Sky ConX)’ ซึ่งนำเสนอการเชื่อมต่อที่หลากหลายอย่างราบรื่นทั้งในประเทศและต่างประเทศผ่านฐานปฏิบัติการบิน ณ สุวรรณภูมิ ด้วยบริการ สกาย คอนเน็ค ผู้โดยสารสามารถเช็คอินเพียงครั้งเดียวที่อาคารผู้โดยสารขาออกแห่งแรก จากนั้นสามารถรับสัมภาระของตนที่ปลายทางได้อย่างสะดวกสบาย ปัจจุบัน Sky ConX โดยสารการบินให้บริการเที่ยวบินเชื่อมต่อภูเก็ต กระบี่ และเชียงใหม่ไปยัง ฟูกุโอกะ ไทเป สิงคโปร์ และดานัง ทั้งยังมีเที่ยวบินเชื่อมต่อภายในประเทศระหว่างจุดหมายปลายทางหลัก ๆ ในประเทศไทยอีกหลายเส้นทาง
นอกจากนี้ ไทยเวียตเจ็ทยังร่วมมือกับ เวียตเจ็ท กรุ๊ป ในการให้บริการเที่ยวบินเชื่อมต่อจากกรุงเทพฯ ไปยังจุดหมายปลายทางระหว่างประเทศหลายแห่ง รวมถึงญี่ปุ่น เกาหลี และออสเตรเลีย ผ่านฐานปฏิบัติการบินของเวียตเจ็ทในเวียดนาม โดย เวียตเจ็ท กรุ๊ป กำลังขยายเครือข่ายเส้นทางบินไปสู่ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่างรวดเร็ว
นอกจาก สกาย คอนเน็ค แล้ว ไทยเวียตเจ็ทยังได้เปิดใช้งานเครือข่ายอินเตอร์ไลน์ (Virtual Interline) โดยร่วมเป็นพันธมิตรสายการบินต่าง ๆ บนระบบเครือข่ายอินเตอร์ไลน์ของ Dohop ซึ่งให้บริการเที่ยวบินที่ครอบคลุมไปยังจุดหมายปลายทางต่างๆ ทั่วโลก อาทิ ออสเตรเลีย เกาหลี นอร์เวย์ เป็นต้น
พร้อมกันนี้ ไทยเวียตเจ็ทยังให้บริการเช่าเหมาลำและได้ขยายเครือข่ายเช่าเหมาลำอย่างรวดเร็ว เมื่อเร็ว ๆ นี้ ไทยเวียตเจ็ทประสบความสำเร็จในการให้บริการเที่ยวบินเช่าเหมาลำไปยังหลากหลายจุดหมายปลายทาง อาทิ โอกินาว่า ย่างกุ้ง อูลานบาตอร์ และอีกหลากหลายปลายทางในจีน โดยร่วมมือกับพันธมิตรด้านการท่องเที่ยวและคู่ค้าต่าง ๆ
ในแง่การขยายฝูงบิน ไทยเวียตเจ็ทมีแผนเพิ่มเครื่องบินอีก 2 ลำเข้าสู่ฝูงบินภายในสิ้นปีนี้ เพื่อรองรับการขยายเครือข่ายเส้นทางบิน โดยจะทำให้ไทยเวียตเจ็ทมีจำนวนเครื่องบินในฝูงบินทั้งสิ้น 20 ลำด้วยกัน
ไทยเวียตเจ็ทในฐานะผู้นำฟื้นฟูการท่องเที่ยว:
กล่าวได้ว่าไทยเวียตเจ็ทอยู่ในตำแหน่งผู้นำที่มีส่วนสนับสนุนการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยนับตั้งแต่การเปิดน่านฟ้าระหว่างประเทศในปี 2565 ที่ผ่านมา สายการบินฯ ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดและสนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ทั้งในประเทศไทยและตลาดต่างประเทศอย่างเต็มที่ รวมทั้งจัดตั้งพันธมิตรต่างๆ กับโรงแรม ผู้ประกอบการท่องเที่ยว และองค์กรด้านการท่องเที่ยว หนึ่งในความร่วมมือเหล่านี้คือความร่วมมือกับ สกายฟัน ทราเวล (Skyfun Travel) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการเดินทางออนไลน์ที่ปฏิวัติวงการ เพื่อนำเสนอแพ็คเกจการเดินทางที่คุ้มค่าแก่ลูกค้าด้วยบริการและผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงจากทั้งไทยเวียตเจ็ทเอง และพันธมิตรท่องเที่ยวอื่น ๆ เพื่อร่วมกันส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งขาเข้าและขาออกให้กลับมาฟื้นตัวและคึกคักอีกครั้งโดยเร็ว
สานต่อกิจกรรม คืนกำไรสู่ชุมชน:
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไทยเวียตเจ็ทได้เปิดตัวแคมเปญต่างๆ ภายใต้กอง ‘Fly Green Fund’ เพื่ออุทิศแด่สังคมและชุมชน กองทุนฟลายกรีนก่อตั้งขึ้นในปี 2564 โดยความร่วมมือกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร โดยมีภารกิจหลักในการระดมทุนเพื่อสนับสนุนโครงการด้านสิ่งแวดล้อมที่ดำเนินการโดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เพื่อปกป้องผืนป่าและสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ในประเทศไทย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สายการบินได้นำเสนอแคมเปญต่าง ๆ มากมาย รวมถึง กิจกรรม ‘การ์เบจ ฮันเตอร์ (Garbage Hunter)’ ซึ่งสายการบินฯ ได้จัดตั้งกลุ่มอาสาสมัครเพื่อกำจัดขยะจากสถานที่ต่างๆ ในประเทศไทย และกิจกรรม ‘เมโทร ฟอร์เรส (Metro Forest)’ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวใน เขตเมืองของประเทศไทย
ในฐานะผู้ให้บริการขนส่งทางอากาศ ไทยเวียตเจ็ทได้มีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องเพื่อความยั่งยืนของการรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น การลดมลพิษจากการปฏิบัติงานประจำวัน และการดำเนินมาตรการปกป้องสิ่งแวดล้อมมากมาย เพื่อลดต้นตอของปัญหาโลกร้อนที่มนุษยชาติกำลังเผชิญอยู่
กางปีกเตรียมพร้อม มุ่งสู่ครึ่งปีหลัง:
ในครึ่งหลังของปี 2566 บริการดิจิทัลและการปรับปรุงบริการเพื่อความพึงพอใจสูงสุดของลุกค้ายังคงเป็นจุดที่ไทยเวียตเจ็ทให้ความสำคัญมากที่สุด นอกจากนี้ สายการบินฯ ยังจะมุ่งเน้นการขยายเครือข่ายเส้นทางบินระหว่างประเทศ ซึ่งสายการบินฯ ได้ศึกษาถึงโอกาสในการให้บริการเส้นทางระหว่างประเทศเส้นทางใหม่ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มอบโอกาสการเดินทางที่มากขึ้นแก่ผู้โดยสารตามปณิธานตั้งต้นของสายการบินฯ
ทั้งนี้ ภายในสิ้นปี 2566 ไทยเวียตเจ็ทตั้งเป้ารายได้รวมเติบโตร้อยละ 72 จำนวนผู้โดยสารเติบโตร้อยละ 9% และรักษาส่วนแบ่งอันดับ 2 ในตลาดประเทศไทย โดยคาดว่าจะรองรับผู้โดยสารได้ทั้งหมด 6.31 ล้านคนภายในสิ้นปี 2566